ล้างแอร์บ้านเองหรือให้ช่างมาล้างแอร์ให้ ต้องรู้อะไรบ้าง

ล้างแอร์บ้านเองหรือให้ช่างมาล้างแอร์ให้ ต้องรู้อะไรบ้าง

ล้างแอร์เอง
ขั้นตอนการล้างแอร์

สิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนล้างแอร์และหลังล้างแอร์ทั้งหมดแบบจัดเต็ม

จะล้างแอร์หรือจะจ้างช่างล้างแอร์อย่างน้อยเราก็ควรมีความรู้หรือการสังเกตติดตัวไว้บ้างเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเข้าใจไม่ตรงกันหลังจากที่จ้างล้างไปแล้วต้องมาทะเลาะหรือความเห็นไม่ตรงกัน เสียทั้งเวลาและเสียความรู้สึกครับ

1.ตรวจสอบหรือเช็คแอร์ โดยการเดินเครื่องก่อน 10-15 นาที ก่อนถอดเครื่อง

ก่อนล้างแอร์ใดๆก็ตามสิ่งที่ควรจะทำลำดับแรกเลย  คือ  การเปิดแอร์ทดสอบก่อน  เช่นแอร์ในห้องต่างๆที่คุณไม่ค่อยได้ใช้ ไม่ได้เปิดเลย ว่ามันยังปรกติดีอยู่หรือเปล่ายังเย็นดีอยู่มั้ย  จะได้รู้ว่า ถ้าหลังล้างไปแล้วมีปัญหา มันเกี่ยวกับการที่พี่ๆเพิ่งล้างแอร์ไปแล้วทำให้มีปัญหา หรือมันเป็นอยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้าเป็นห้องแอร์ที่พี่ใช้กันทุกวันอยู่แล้ว หรือเพิ่งเปิดไม่นานเช่นห้องนองนอนเพิ่งนอนเมื่อคืนก็ไม่จำเป็นต้องไปเปิดทดสอบอะไร

มันมีกรณีหลายครั้งหรือค่อนข้างบ่อยครั้งเลยที่ พี่ๆจะล้างแอร์ไม่ว่าจะเป็นล้างเองหรือจ้างช่างมาล้าง ไม่ได้เปิดทดสอบการทำงานของเครื่องแอร์ว่าปรกติดีอยู่มั้ยก่อนที่จะล้าง หลังจากทำการล้างจนเสร็จเรียบร้อยแล้วแอร์เกิดมีปัญหาขึ้นมาไม่เย็นบ้าง มอเตอร์สวิงไม่เดินบ้างมอเตอร์พัดลมไม่หมุน หรือเครื่องไม่ทำงานเลยขึ้น ERROR CODE มาซะอย่างนั้น  แล้วทีนี้จะหาสาเหตุหรือจะเป็นความผิดของใครล่ะครับ ส่วนใหญ่คนล้าง ตัวเรา หรือช่างแอร์ที่มาทำการล้างแอร์ก็จะตกเป็นจำเลยไปซะอย่างนั้น    โดยสาเหตุที่แท้จริงก็ไม่มีใครทราบ

เมื่อเป็นเช่นนี้กระบวนการนี้จริงสำคัญมาก จึงอยากให้คุณพี่ทั้งหลายลองเปิดทดสอบเดินเครื่องดูก่อนนะครับ สัก 10นาที มั่นใจว่าเครื่องเย็นดีแล้วสมบรูณ์ปรกติจึงค่อยทำการแกะถอดล้าง ถ้าไม่สมบรูณ์เย็นดีก็ให้ทำการตรวจเช็คซ่อมเสียก่อน  นอกเสียจากว่ามันจะไม่เย็นเพราะเครื่องสกปรกอันนั้นจะสังเกตได้ตั้งแต่แรกเลยว่าลมออกน้อยผิดปรกติ หรือลมออกไม่ทั่วหน้าคอยล์ไม่สม่ำเสมอ  แต่ส่วนใหญ่ช่างแอร์ที่เก่งๆหรือมีประสบการณ์มากๆนั้น เค้าจะต้องตรวจสอบเองก่อนเสมอได้ไม่ต้องให้เจ้าของบ้านบอก เค้าจะทดลองเปิดแอร์ตรวจสอบความเย็น ดูน้ำทิ้ง เช็คการทำงานของมอเตอร์ด้วยตาเปล่าและถ้ามีปัญหาก็จะแจ้งให้เจ้าของบ้านทราบก่อนที่จะทำการล้างแอร์

2. ปูผ้าที่พื้น คลุมเตียง คลุมทีวี หรือพิ้นที่ที่จะทำการล้างให้เรียบร้อย

การทำงานที่ดีนั้นหน้างานจะต้องสะอาดเรียบร้อย จัดเก็บทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทางเสียก่อน ปลั๊กไฟที่เสียบไฟอยู่ใกล้ๆ ก็ควรจะถอดออกไว้ให้ห่าง อุปกรณ์ไฟฟ้า ยกออกได้ก็ควรทำ บริเวณที่จำเป็นต้องขึ้นไปเหยียบเช่นตู้หรือโต๊ะ ก็ควรจะปูผ้าให้เรียบร้อย   ตัวเครื่องแอร์เองก็ควรจะคลุมผ้าใบล้างแอร์ให้เรียบร้อยไม่มีรอยซึมรอยรั่วของน้ำได้และปลายผ้าก็ควรทิ้งให้ลงที่เก็บน้ำเช่นถังน้ำ  หรือ ปล่อยระบายออกนอกหน้าต่างในกรณีที่อยู่ติดหน้าต่างแล้วเปิดหน้าต่างล้าง

 

3.ทำการตัดไฟเมน และตรวจสอบระบบเมนไฟฟ้าที่เข้าตัวเครื่องแอร์  ให้มั่นใจแน่นอน 100%  ว่าไม่มีไฟแล้ว จริงๆ

เรื่องสำคัญยิ่งกว่าข้อไหนทั้งหมดครับ อย่างน้อยควรมีไขควงเช็คไฟหรือเทสแลมป์เช็คหน่อยก็ยังดีครับ ให้ปลอดภัยจริงๆ อันตรายถึงขึ้นเสียชีวิตได้เลยนะครับ แม้กระทั่งช่างแอร์มืออาชีพเองบางครั้งยังโดนไฟดูด บาดเจ็บได้เลยนะครับ   มันไม่มีอะไรให้คุ้มที่จะเสี่ยงกันเลย

4.เช็คเครื่องมือให้พร้อม ใช้งานสมบรูณ์

เครื่องมือต่างๆที่จะใช้งานล้างแอร์ต้องอยู่ในสภาพดีสมบรูณ์  อย่างน้อยก็ต้องหมั่นตรวจสอบบ่อยๆบ้างหรือถ้าไม่เคยตรวจเลยก่อนการใช้งานก็น่าจะดูสักนิดนึงที่สำคัญที่สุดก็คือ ไขควงเช็คไฟอยู่ในสภาพสมบรูณ์ พร้อมใช้งานแน่นอนมั้ย เครื่องฉีดน้ำหรือปั๊มล้างแอร์  มีจุดสายไฟถลอก มีขาดมั้ยหรือมีปลั๊กกันไฟดูดสำหรับเครื่องฉีดน้ำใช้อยู่บ้างมั้ย  บันไดแข็งแรงดีมั้ย คลิปแอมป์วัดกระแสไฟ เกจ์วัดแรงดันน้ำยา โบลเวอร์ก็เช่นกัน  เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดการล้างไปครึ่งทางแล้วไม่จบงานได้

 

5.ได้ถอดถาดน้ำและโบลเวอร์ (กรงกระรอก ภาษาช่าง) และมอเตอร์แฟนคอยล์รึป่าว

 

เขียนกันจากใจคนที่เคยเป็นช่างล้างแอร์มาก่อน บางครั้งถ้าพี่ๆจ่ายค่าแรงแอร์ในราคาที่ถูกแล้วช่างถอดให้พี่หมดตั้งแต่ถาดน้ำถึงโบลเวอร์บางครั้งมอเตอร์โหดกว่านั้นถอดแผงวงจรไฟฟ้าออกไปด้วยเลย แล้วล้างแบบเอี่ยมกริ๊ปทั้งหมด  พี่โชคดีมากครับ  เพราะการล้างแอร์ที่ถอดขนาดนี้ ส่วนใหญ่ช่างที่คิดจะราคาไม่ต่ำกว่า 500 บาท แน่นอน เพราะเป็นงานที่ละเอียด ใส่ใจและใช้เวลา  แต่ถ้าล้าง 300 ส่วนใหญ่ อย่างมากก็ถอดแค่โบลเวอร์ใบพัด หรือกรงกระรอกครับ  แต่ผมไม่ได้หมายถึงทุกช่างนะครับ ช่างที่บริการดี ราคาถูกก็มีครับ     เพราะฉะนั้น จ่ายราคาไหนได้งานราคานั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ  ยกเว้นจ่ายแพงแล้วได้งานถูกอันนั้นก็ต้องพิจรณาเลือกช่างกัน ตั้งแต่ตอนแรกไปนะครับ   ที่ต้องกล่าวถึงในเรื่องนี้เพราะผมก็ได้รับคำถามพวกนี้มามากเหมือนกันเวลามีคนรู้จักมาปรึกษา ก็เลยถือโอกาสเล่าให้ฟังตรงนี้เลย

 

จะล้างให้สะอาดทั้งหมด จริงๆควรถอดนะครับ เพราะไม่อย่างนั้นจะล้างหลังคอยล์หรือ ช่วงพับด้านล่างของคอยล์รูปตัว V ไม่ได้  คอยล์ตัว V หมายถึงในแอร์ติดผนังทั่วไป ที่เป็นรูปสามเหลี่ยม  เพราะจะไม่ได้แหย่หัวฉีดล้างแอร์เข้าไปด้านในครับ ด้านในนั้นบางทีก็สกปรกไม่เบาเลยนะครับ  ถ้าไม่ถอดถาดน้ำทิ้งก็ยากที่จะล้างถาดน้ำทิ้งให้สะอาดและในจะใบสวิงในอีก  ถอดให้หมดครับถ้าช่างแอร์ที่มาล้างไม่ถอดให้ถามเค้าเลยครับทำไมไม่ถอด ถ้าเค้าบอกว่าราคาที่ตกลงกันไม่ถอดก็คุยกันจ่ายเพิ่มเค้าไปเถอะครับ ถ้าราคาที่เริ่มต้นคุยกันมันไม่ได้สูงมาก เพราะถ้าพี่ๆไม่ได้ล้างด้านในคอยล์ก็เหมือนล้างแอร์ได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้นครับ

 

 

6.ล้างท่อน้ำทิ้ง และดูดท่อน้ำทิ้ง

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการล้างแอร์นั่นคืออย่าได้ลืมล้างท่อน้ำทิ้งไปด้วยหรืออัดฉีดท่อน้ำทิ้งของแอร์ด้วยเผื่อทำความสะอาดสิ่งสกปรกต่างๆหรือเมือกที่อุดตันในท่อเพราะนั่นเป็นสาเหตุหลักอย่างนึงที่ทำให้น้ำแอร์หยด เพราะน้ำแอร์ไม่มีทางระบายไหลออกไปทิ้งด้านนอกได้ไหลย้อนกลับมาที่ถาดน้ำแล้วล้นออกหน้าแอร์เพราะฉะนั้นควรล้างอัดท่อน้ำทิ้งทุกครั้งที่ล้างแอร์ และ ควรดูดปลายท่อน้ำทิ้งด้วยเครื่องดูดฝุ่นที่ดูดน้ำได้ด้วยก็ยิ่งดีใหญ่เลย จะได้ออกให้หมด

7.เปิดเครื่องทิ้งไว้หลังล้างเสร็จ อย่างน้อย 10-15 นาที

เมื่อล้างและประกอบเครื่องแอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ควรจะเปิดเครื่องทดสอบทิ้งไว้ 10-15 นาทีดูความเย็นด้วยการใช้ตัววัดอุณหภูมิวัด และใช้ตัววัดความแรงลมได้ก็ดีนะครับ และท่อน้ำทิ้งต้องตรวจสอบว่ามีน้ำทิ้งแอร์ไหลไปดีมั้ย น้ำทิ้งไหลออกได้สะดวกมั้ย  ไม่ควรจะมีน้ำทิ้งแอร์ขังไว้ในถาดน้ำแอร์น้ำเพราะจะทำให้เกิดเมือกด้านในได้ และท่อน้ำก็จะอุดตันเหมือนเดิม

เพื่อตรวจสอบความเย็นของเครื่องแอร์ และตรวจสอบน้ำทิ้งที่ไหลออกจากแอร์

 

8.ล้างเสร็จ ต้องเติมน้ำยาแอร์เพิ่มมั้ย

ถ้าแอร์ยังเย็นดีอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องไม่เติมครับ นอกจากมันเย็นชืด ก็อาจจะต้องเติมเข้าไปหน่อย การเติมน้ำยานั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำยานั้นพอดีหรือไม่พอดี มากเกินไปหรือน้อยเกินไป อันนี้ต้องอาศัยประสบการณ์กับความรู้ครับ  ถ้าพี่ๆไม่ใช่ช่างมืออาชีพที่ผ่านการอบรม และมีประสบการณ์มีเครื่องมือพร้อมก็อาจจะเป็นเรื่องไปสักหน่อยครับ  หลักๆส่วนใหญ่ ก็จะเติมน้ำยากันอยู่ 4 แบบ  ก็จะมีความแตกต่างกันไป เพราะเมืองไทยเราเริ่มมีแอร์แบบ INVERTER มากขึ้น การเติมน้ำยาก็จะแตกต่างไปจากแอร์ FIX SPEED

 

แบบที่ 1  วัดแรงดันน้ำยาแล้วเติมเพิ่ม

แบบที่ 2 วัดแรดันน้ำยาแล้วจับกระแสไฟฟ้าของคอมเพรสเซอร์ด้วย

แบบที่ 3 เติมน้ำยาแบบชั่งน้ำหนักตามค่ามาตรฐานที่โรงงานระบุมา

แบบที่ 4 เติมน้ำยาแบบวัดซุปเปอร์ฮีทและซุปเปอร์คูล

 

บทความเพิ่มเติมลงรายละเอียดลึก เกี่ยวกับการเติมน้ำยาแอร์หลังการล้างแอร์เสร็จ

เขียนยังไม่เสร็จ พี่ๆอ่านเล่นไปก่อนนะครับ  ขอบคุณครับ

การตรวจซ่อมเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง FLOW ENERGY ในทุกอาการ